สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)

ประเพณีสงกรานต์

visibility 39,106
12 เมษายน 2562 ถึง 15 เมษายน 2562

วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณก่อนที่จะมีการประกาศวันขึ้นปีใหม่แบบสากล ในขณะที่ชาวต่างชาติต่างรู้จักวันสงกรานต์ในฐานะของการละเล่นสาดน้ำคลายร้อนที่โด่งดังไปทั่วโลก

คำว่าสงกรานต์นั้น แปลว่า ก้าวขึ้น เปลี่ยนผ่าน หรือย่างขึ้น ซึ่งตรงกับทางโหราศาสตร์ที่ว่า วันสงกรานต์จะเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 , 14, 15 เมษายนของทุกปี ในบางจังหวัดก็จะมีการเฉลิมฉลองยาวนานกว่า 3 วัน เช่น ประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ หรือประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประเพณีสงกรานต์(วันไหล)พัทยา และนอกจากไทยแล้ว ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ก็มีประเพณีวันสงกรานต์เช่นเดียวกัน

ในระหว่าง 3 วันนี้ จะมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน เข้าวัดทำบุญ ขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และการละเล่นสาดน้ำของหนุ่มสาว

ประเพณีสงกรานต์

ในวันที่ 13 เมษายน จะเรียกว่าวันมหาสงกรานต์ เป็นวันสิ้นปีเก่าเตรียมเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ ผู้คนก็จะปัดกวาด ทำความสะอาดบ้าน เพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากบ้าน เป็นการต้อนรับปีใหม่ บางบ้านก็จะยิงปืน จุดประทัด หรือทำอะไรก็ได้ให้เกิดเสียงดัง เพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีต่างๆ ออกไป

วันที่ 14 เมษายน วันเนาหรือวันเน่า ตามวัดวาอารามต่างๆ จะมีการเตรียมงานทำบุญสงกรานต์ ตอนบ่ายๆ จะมีการขนทรายเข้าวัดเตรียมก่อเจดีย์ทราย ในวันนี้คนโบราณมีความเชื่อว่า ห้ามพูดจาไม่ดีต่อกัน ห้ามทะเลาะเบาะแว้ง เพราะจะทำให้โชคไม่ดีไปตลอดปี

วันที่ 15 เมษายน วันเถลิงศกหรือวันพญาวัน เป็นวันที่ผู้คนพากันเข้าวัด ทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีการรดน้ำดำหัว ขอพรจากผู้สูงอายุ ผู้อาวุโสในชุมชน มีการก่อเจดีย์ทราย การละเล่นสาดน้ำของหนุ่มสาว ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่หนุ่มสาวจะได้พบปะกันพูดคุยกัน เกี้ยวพาราสีกันได้ด้วยการละเล่นสาดน้ำ

ที่มาของประเพณีสงกรานต์นั้นอิงมาจากตำนานนางสงกรานต์ เมื่อธรรมาบาลกุมารผู้มีสติปัญญาปราดเปรื่อง สามารถตอบคำถามท้าวกบิลพรหมได้ ทำให้ท้าวกบิลพรหมต้องตัดศีรษะตนเองตามที่ตกลงไว้กับธรรมบาลกุมารว่าจะยอมตัดศีรษะให้หากตอบคำถามได้ แต่ศีรษะของท้าวกบิลพรหมนั้นหากตัดแล้วนำไปตั้งไว้บนผืนดิน แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ ถ้าโยนขึ้นท้องฟ้า ฝนจะแล้ง ท้าวกบิลพรหมจึงให้ลูกสาวทั้งเจ็ดคนผลัดเปลี่ยนกันจัดขบวนแห่ศีรษะของตนเองรอบเขาพระสุเมรุ ทุกๆ 365 วัน การนำศีรษะของท้าวกบิลพรหมออกแห่จึงถูกนับว่าเป็นการขึ้นปีใหม่นั่นเอง



  • สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
    33 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230